บทที่ 1 - จุดหักเหในวัยเยาว์และโอกาสทางการศึกษา

ข้อมูลที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นบทความ เรื่องเล่าผ่านชีวิตจริง จากประสบการณ์ของผู้หญิงไทยธรรมดาคนหนึ่ง ที่ได้มีโอกาสในการใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศดังที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่หารู้ไม่บ่อยครั้งที่เธอคนนี้รู้สึกอยากจะกลับบ้าน เมืองไทยของเธอซะเหลือเกิน

เราจะใช้นามสมมุติของเธอคนนี้ว่า "เกรซ"

เกรซเป็นเด็กที่เกิดและเติบโตในเมืองหลวงของประเทศไทย ที่เราเรียกกันสั้นๆว่า "กรุงเทพ" เด็กรุ่นใหม่สมัยนี้จะรู้ไหมว่าเมืองหลวงของประเทศไทยนั้น มีชื่อเต็มที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับชาติไหน เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก พูดแล้วก็มาระลึกถึงเพลงของคุณ อัสนี วสันต์ กันดีกว่าและต้องขอขอบคุณ คุณ อัสนี วสันต์ ที่ทำให้คนไทยหลายคน สามารถจำชื่อเต็มของกรุงเทพฯ ได้จนกระทั่งทุกวันนี้



กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ 
นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน 
อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์

     คุณพ่อและคุณแม่ของเกรซได้แยกทางกันตั้งแต่ก่อนที่เกรซจะจำความได้ คุณปู่ของเกรซเป็นคนที่มีฐานะระดับหนึ่งเนื่องจากท่านมีที่ทางเป็นร้อยไร่ในกรุงเทพฯ ท่านสามารถส่งเสียลูกหลานไปเรียนต่างประเทศและดำรงชิวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องทำมาหากินใดๆ คุณพ่อของเกรซซึ่งเป็นลูกคนสุดท้องและถูกตามใจมากที่สุดจึงไม่เคยต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงตนเอง ส่วนคุณแม่ของเกรซนั้นมีฐานะปานกลางต้องหาเช้ากินค่ำดังเช่นคนทั่วไป

โอกาสทางการศึกษา
ในวันที่คุณพ่อและคุณแม่ของเกรซได้หย่าขาดกันนั้นทำให้เกรซต้องถูกแยกขาดกับน้องชายของเกรซ เนื่องจากศาลได้ตัดสินให้บุตรชายอยู่กับมารดาและบุตรสาวอยู่กับบิดา จุดหันเหตรงนี้อาจจะดูเหมือนไม่มีผลกระทบใดกับใครมากนักตามความคิดแบบเด็กๆของเกรซ จนกระทั่งเกรซเติบโตและแต่งงานเธอจึงได้เห็นความแตกต่างของชีวิตของเธอและน้องชาย ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดมาจากการแยกทางกันของคุณพ่อและคุณแม่ของเธอ

     หลังจากที่เกรซและน้องถูกแบ่งแยกกันไปคนละทิศคนละทาง เกรซนั้นได้ตกอยู่ในความปกครองของคุณพ่อส่วนน้องชายได้ตกอยู่ในความปกครองของคุณแม่ เกรซนั้นได้ถูกส่งให้เรียนโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อ เนื่องจากทางคุณพ่อของเกรซนั้นมีฐานะดีแต่น้องของเกรซนั้นได้ถูกส่งไปเรียนโรงเรียนรัฐบาล
     นอกจากการที่เกรซได้รับการศึกษาจากโรงเรียนเอกชนที่มีการสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่หนึ่งแล้ว คุณปู่และคุณป้าของเธอยังปลูกฝังให้เธอรักการศึกษาและส่งให้เธอเรียนพิเศษตอนเย็นหลังเลิกเรียนทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ส่วนวันเสาร์อาทิตย์นั้นเธอยังได้ถูกส่งให้ไปเรียนเสริมความสามารถ เช่น รำไทย บัลเล่ต์ และเปียโน 
     นอกจากนี้แล้วในทางฝั่งญาติของคุณพ่อของเกรซดังที่ได้กล่าวเบื้องต้นว่าคุณปู่ของเธอได้ส่งเสียลูกหลานของท่านให้เรียนโรงเรียนดีๆมีชื่อเสียงแล้ว ท่านยังได้ส่งลูกชายของท่านเกือบทุกคนให้ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศในประเทศเอเมริกาอีกด้วย ในเวลานั้นอเมริกาเป็นประเทศยอดฮิตที่พ่อแม่ที่มีฐานะมักจะส่งเสียลูกไปเรียนกัน

ความสำคัญที่ผู้ชายไทยได้รับมากกว่าผู้หญิงไทย
คุณปู่ของเกรซได้ส่งเฉพาะลูกชายไปเรียนต่างประเทศแต่เก็บลูกสาวไว้ใช้งานที่บ้าน เนื่องจากว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คุณปู่ของเกรซไม่เพียงแต่เก็บลูกสาวไว้ในบ้านแต่อย่างเดียวท่านยังไม่อนุญาติให้ลูกสาวของท่านออกนอกบ้านคนเดียวหรือพบปะกับผู้ชายอีกด้วย คุณป้าของเกรซบางท่านจึงท้องป่องกับคนสวนหรือไม่ก็คนขับรถที่บ้าน สิ่งนี้คงเป็นบทเรียนสอนคุณปู่ของเธอ ว่าท่านไม่สามารถหยุดยั้งธรรมชาติของมนุษย์ได้ เพราะหลังจากนั้นมาคุณปู่ของเกรซได้อนุญาติให้ลูกสาวคนสุดท้องออกไปเรียนห่างไกลจากบ้านได้ เกรซมีโอกาสที่จะได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมกับบุคคลที่มีการศึกษา บ่อยครั้งที่เธอได้รับการศึกษาในวิชาภาษาอังกฤษจากคุณป้าคนเล็กของเธอซึ่งปัจจุบันท่านได้เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษระดับชั้นมัธยมปลายของโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่ง และจุดนี้ก็เป็นส่วนที่ทำให้เกรซกลายเป็นเด็กเรียนดีคนหนึ่ง

การแข่งขันเริ่มตั้งแต่สมัยเยาว์วัย
ณ โรงเรียนเอกชนแห่งแรกที่เกรซเรียนนั้น ทางโรงเรียนจะจัดการแข่งขันทางการศึกษาอยู่เสมอ ทางโรงเรียนจะมีบอร์ดที่ถูกสร้างไว้ตรงตึกแรกของโรงเรียนที่ทุกคนที่เดินเข้ามาในโรงเรียนจะต้องได้เห็น เพื่อที่จะโชว์นักเรียน 10 คนที่มีผลการเรียนสูงที่สุดในแต่ละระดับชั้นเรียน เกรซเป็นคนหนึ่งที่ได้ขึ้นบอร์ด 1 ใน 10 คนนั้นเสมอ ในจุดนี้พอเกรซโตมาและมารับรู้ว่าในประเทศอังกฤษนั้น ผลสอบของนักเรียนไม่ได้ถูกนำมาเปิดเผยเหมือนที่เมืองไทยเพราะถือว่าเป็นข้อมูลส่วนตัว ทำให้เกรซรู้สึกว่าประเทศไทยนั้นปลูกฝังให้เด็กแข่งขันกันมากเหลือเกิน
     ในความเป็นเด็ก เกรซไม่รู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างตัวเธอกับน้องชายแต่อย่างใด เธอรู้ก็เพียงแต่ว่าตัวเธอเป็นเด็กเรียนเก่งมีแต่คนยกย่องชมเชย ในขณะที่น้องชายของเธอมีแต่คนตำหนิถึงความโง่เขลา เพราะน้องชายของเกรซจะถูกเปรียบเทียบกันเกรซเสมอ บ้างก็ว่าว่าน้องเกรซเกิดมาโง่ โทษบุญบาปแต่ชาติปางก่อน เกรซนั้นด้วยความเป็นเด็กและได้รับคำชมบ่อยเข้าก็เกิดความหยิ่งพยอง นึกว่าตัวเองเกิดมาเก่งและมีบุญอย่างที่ผู้ใหญ่พูดกัน
     จนกระทั่งวันที่เกรซได้ถูกจับย้ายโรงเรียนตอนประถมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนเอกชนไปอยู่โรงเรียนรัฐบาล เนื่องจากทางผู้ใหญ่ได้ทราบข่าวมาว่าโรงเรียนรัฐบาลนั้นมีโควต้าซึ่งสามารถช่วยให้นักเรียนสอบเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงได้โดยไม่ต้องผ่านการสอบคัดเลือก แต่หลังจากเกรซถูกจับย้ายโรงเรียนไปแล้วทางผู้ใหญ่ได้มารับรู้ข่าวอีกทีที่หลังว่าเป็นการเข้าใจถูกครึ่งและผิดครึ่ง โควต้าที่ว่านั้นมีอยู่จริงแต่นักเรียนจะได้สิทธิ์รับโควต้าก็ต่อเมื่อได้เป็นนักเรียนที่โรงเรียนแห่งนั้นในสามปีหลัง กล่าวคือประถมศึกษาปีที่ 4 5 และ 6 มาก่อน จุดนี้ผู้ใหญ่ควรจะศึกษาข้อมูลให้สมบูรณ์ก่อนทำการตัดสินใจย้ายเด็กไปมา  
     เกรซยังสามารถทำคะแนนได้อยู่ในระดับที่ดีในสถานที่เรียนแห่งใหม่ที่เป็นโรงเรียนรัฐบาล โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ นั้นก็เป็นเพราะว่าโรงเรียนรัฐบาลนั้นจะเริ่มสอนภาษาอังกฤษกันตอนสองปีสุดท้ายช่วงประถมศึกษาปีที่ 5 ในขณะที่เกรซได้เรียนภาษาอังกฤษมาแล้วตั้งแต่อนุบาลปีที่ 1 จากโรงเรียนเอกชนแห่งเก่า เกรซก็เริ่มรู้สึกหึกเหิมมากขึ้นไปอีกเพราะเพื่อนร่วมชั้นของเธอเพิ่งจะเริ่มเรียน ABC บางทีเธอถึงกับหัวเราะเยาะเพื่อนของเธอด้วยความเป็นเด็ก


จุดหักเห
ในขณะที่เกรซได้ย้ายโรงเรียนนั้นเธอก็ไม่ได้เรียนพิเศษหลังเลิกเรียนอีกต่อไป จนมาถึงตอนประถมศึกษาปีสุดท้ายปีที่ 6 เกรซได้ถูกส่งให้กลับไปเรียนพิเศษกวดวิชา ในการเตรียมตัวสอบเข้าระดับชั้นมัธยมศึกษา ตอนที่เกรซได้ไปเรียนกวดวิชานี่เองทำให้เกรซได้เจอประสบการณ์ที่เธอไม่สามารถอธิบายได้ในความเป็นเด็กอายุ 12 ขวบ เธอได้ไปเจอเพื่อนร่วมชั้นเรียนจากสถาบันการศึกษาเก่าซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนของเธอ เพื่อนเธอคนนี้เป็นเด็กที่จัดอยู่ในกลุ่มที่มีผลการเรียนค่อนข้างต่ำ ในขณะที่เธอเป็นเด็กที่จัดอยู่ในกลุ่มนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม แต่ในการทดสอบวิชาต่างๆ ที่สถาบันกวดวิชานั้นเพื่อนเกรซคนนี้กลับมีคะแนนสูงกว่าเกรซหมดทุกวิชา เกรซรู้สึกแปลกใจแต่อธิบายไม่ถูกเพราะไม่เข้าใจว่าสาเหตุมันเป็นเพราะอะไร ใน ณ วินาทีนั้นเกรซก็รู้สึกงงแต่ไม่ได้คิดอะไรต่อเพราะความเป็นเด็ก แต่เรื่องนี้ก็ยังติดอยู่ในใจของเธอเสมอมาจนโต พอมาถึงตอนสอบเข้าระดับชั้นมัธยมศึกษาเกรซก็ได้ทำการสอบคัดเลือกตามปกติตามโรงเรียนมัธยมชื่อดัง ทั้งๆที่ใครก็เห็นวาเกรซเป็นเด็กหัวดีคนหนึ่งแต่พอถึงเวลาสอบเข้าชั้นมัธยมเกรซไม่สามารถสอบเข้าโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงได้เลยแม้แต่ที่เดียว
     เท่านั้นยังไม่พอต่อมาในภายหลังเกรซได้ติดต่อกับเพื่อนอีกคนหนึ่งจากโรงเรียนเอกชนเก่าแห่งเดียวกันนั้นและทราบข่าวว่าเพื่อนเธอคนนี้และเพื่อนอีกคนหนึ่งกำลังศึกษาอยู่ในสถาบันที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ในขณะที่เกรซต้องเข้าเรียนในสถาบันที่ไม่ต้องใช้การสอบคัดเลือกแต่แค่เป็นการสอบที่เรียกกันว่าสอบเป็นทางการ เกรซรู้สึกงงมากเพราะเพื่อนของเธอทั้งสองคนนั้นก็ไม่ได้เป็นเด็กเรียนเก่งเทียบเท่ากับเธอเลยในสมัยเด็ก
     เพราะด้วยความเป็นเด็กและไม่เข้าใจพร้อมกับไม่มีผู้ใหญ่ที่เข้าใจและปลอบใจเธอ เกรซก็เริ่มรู้สึกถดถอยและหมดศรัทธาในตัวเอง เธอไม่เชื่ออีกแล้วว่าเธอนั้นเกิดมามีบุญ ฉลาดปราดเปรื่องเหมือนที่ใครๆหลายคนกล่าวขาน เธอรู้สึกท้อแท้อย่างมากและไม่รู้สึกว่าเธอเป็นคนพิเศษอีกต่อไป เธอเริ่มหมดกำลังใจซึ่งมีผลกระทบทำให้เธอเริ่มที่จะไม่ตั้งใจเรียนเท่าที่ควร เธอเริ่มหันเหกลายเป็นเด็กเกเร หนีเที่ยว โดดเรียน และทดลองใช้ยาเสพย์ติด 
     เกรซติดเที่ยวมากจนกระทั่งครั้งหนึ่งเธอถึงกับต้องลาออกจากโรงเรียนเลยทีเดียว ทุกครั้งที่เกรซได้กลับเข้าเรียนอีกเธอก็เรียนไม่ไหวเนื่องจากการศึกษาของเธอนั้นขาดความต่อเนื่อง บ่อยครั้งที่เธอต้องแอบจดข้อสอบไว้ที่ชายแขนเสื้อของเธอเข้าห้องสอบหรือไม่ก็แอบลอกข้อสอบเพื่อน เพื่อที่เธอจะสามารถสอบผ่านชั้นเรียนในแต่ระดับได้ เพื่อเธอและครอบครัวจะได้ไม่ต้องอับอายขายหน้าหากว่าเธอสอบตก ด้วยการที่เกรซเกิดมาจากครอบครัวสังคมไทยที่ชอบแข่งขันกันเองทำให้เกรซรู้สึกกดดันอย่างสูง การแข่งขันที่ว่านี้ผู้ใหญ่แข่งกันเองยังไม่พอมักจะเอาเด็กมาอวดกันมาแข่งกันอีกด้วย บางคนถึงกับเอาลูกเอาหลานมาแข่งกันเองในขณะที่ผู้ใหญ่นั้นควรจะปลูกฝังให้เด็กสามัคคีและปรองดองกัน 


เหนือฟ้ายังมีฟ้า
มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งซึ่งได้เกิดขึ้นหลังจากที่เกรซโตเป็นผู้ใหญ่ เกรซนั้นมีเพื่อนรุ่นน้องอยู่หลายคน แล้วอยู่มาวันหนึ่งคุณพ่อของเพื่อนของเกรซได้มาบอกเกรซว่าลูกสาวของตนสอบได้ที่ 1 และยังพูดกล่าวต่อไปอีกว่าจำนวนลูกของเขานั้น ไม่มีใครสามารถทำได้เช่นนั้นมาก่อน ฟังแล้วเกรซรู้สึกเศร้าแทนเด็กๆ คนอื่นในครอบครัวของเพื่อนเกรซคนนี้ที่ได้ยิน แต่เกรซก็ไม่ได้พูดอะไรออกไป ก็ได้เพียงแต่แสดงความยินดีกับเพื่อนของเธอตามปกติ เกรซไม่ได้แสดงความยินดีแบบออกนอกหน้าออกตาแต่อย่างใด เพราะเกรซรู้และมีประสบการณ์มาแล้วว่าคนที่เป็นที่ 1 ไม่ได้แปลว่าเขาจะเป็นที่ 1 ได้เสมอไปหรือที่เรียกกันว่า "เหนือฟ้าก็ยังมีฟ้า" นั่นเอง 
     เกรซเพียงแต่มีความรู้สึกว่าเป็นเพราะอย่างนี้นี่เองทำไมพี่น้องและญาติถึงได้อิจฉากันเองและไม่รักใคร่ปรองดองกันเท่าที่ควร เพราะในวัยเด็กเกรซได้ยินคำกล่าวเปรียบเทียบระหว่างลูกหลานในวัยเดียวกันจากผู้ใหญ่เสมอ และแล้วพอมาถึงคราวที่เพื่อนเธอคนนี้ต้องสอบเข้าโรงเรียนมัธยม เธอก็สอบไม่ติดและตอนนี้แหละคิดดูเอาเองว่าเด็กจะรู้สึกเช่นไร เพราะผู้ใหญ่ก็คงจะไม่โทษตนเองกันหรอกแต่โทษที่เด็กและในความเป็นเด็กที่คิดไม่ได้ ไร้เดียงสา เด็กก็จะรู้สึกโทษตนเองอยู่แล้วเด็กอาจจะรู้สึกผิดหวังอย่างมากเหมือนที่เกรซเคยเป็นแล้วหันเหเปลี่ยนจากเด็กดีกลายเป็นเด็กมีปัญหาและไม่น่ารักอีกต่อไป เกรซรู้สึกว่าผู้ใหญ่ควรจะให้ความเห็นใจเด็กและเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ปกครองที่ดีและแสดงความรู้สึกและให้ความคิดเห็นที่แท้จริงกับเด็ก แต่เป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่กลัว "การเสียหน้า" เราจึงบิดเบียนผลักความน่าละอายไปที่บุคคลอื่น โดยเฉพาะกับเด็กซึ่งเป็นผู้ที่ถูกสั่งสอนไม่ให้ออกเสียงใดๆ ทั้งสิ้น 


การแข่งขันสูงทำให้ต้องโกหกเพื่อรักษาหน้าและภาพพจน์
 นอกจากนั้นแล้วเกรซยังมีประสบการณ์จากเพื่อนหลายๆ คนของเธอ ที่พวกเขาถึงขนาดต้องโกหกว่าตนนั้นเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศหรือจบจากเมืองนอก เกรซก็คิดและเข้าใจว่าเพื่อนเธอนั้นก็คงจะถูกกดดันจากญาติผู้ใหญ่และการแข่งขันที่สูงในสังคมไทยและในหมู่ญาติพี่น้องกันเองเช่นกัน เขาจึงต้องโกหกไปแบบนั้นเพียงเพื่อที่จะ "รักษาหน้าและภาพพจน์"
สำหรับเกรซนั้น หลังจากที่เธอหมดกำลังใจและไม่เชื่อว่าเธอนั้นเกิดมาฉลาดอีกต่อไป เธอก็กลายเป็นเด็กเกเร แล้วเธอก็ถูกประจาน ถูกว่าต่างๆนาๆ เกรซถึงขนาดอยากฆ่าตัวตายในบางครั้งเพราะเธอรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจและเห็นใจเธอ 
     พอเกรซโตมา และผ่านมรสุมต่างๆ มาได้ เธอก็เริ่มที่จะเข้าใจจากเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นว่า การที่ตอนเด็กๆ เธอเคยเรียนเก่งนั้นไม่ได้เป็นเพราะเธอเกิดมาฉลาดหรือมีบุญ จึงได้เก่งมาตั้งแต่เกิด แต่เป็นเพียงเพราะว่าเธอได้รับสิ่งที่มีค่า ที่เรียกว่า "โอกาส" ทางการศึกษา นั่นเอง


คลิกเพื่ออ่านต่อเข้าสู่บทที่ 2 - ความไม่เท่าเทียมและค่านิยมที่ผิด 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น