บทที่ 3 - ชีวิตนักเรียนนอกไม่ได้หรูหราอย่างที่คิด

ในการที่จะเข้าใจถึงปัญหาต่างๆ  ที่เป็นผลกระทบที่เกิดมาจาก โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันในหลายๆ ด้าน และในการที่บริษัทในประเทศไทยได้ระบุระดับการศึกษาไว้ในประกาศรับสมัครพนักงานดังที่ได้กล่าวไว้ในบทที่ 2 นั้นให้มากขึ้นนั้น เกรซก็มีเรื่องน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับประสบการณ์การศึกษาต่อในต่างประเทศ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับหลายๆ ท่าน ที่ต้องการจะทำการศึกษาต่อต่างประเทศ ตั้งแต่ตอนที่เธอทำการขอวีซ่านักเรียน บรรยากาศในมหาวิทยาลัยและห้องเรียนในประเทศอังกฤษ ลักษณะการเรียนการสอนและความน่ารักของอาจารย์ชาวต่างชาติ จนกระทั่งถึงตอนที่เกรซต้องเขียนวิทยานิพนธ์ที่แสนยากลำบาก จนทำให้เธอถึงขนาดยอมแพ้ แต่แล้วเธอก็เปลี่ยนใจตัดสินใจที่จะฮึดสู้ในวินาทีสุดท้าย ล้มลุก คลุกคลาน ไม่ได้หลับไม่ได้นอน แล้วทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี จนถึงวันที่เธอได้รับปริญญา ที่เธอและครอบครัวหวังไว้

นึกไปเองว่าประเทศทางฝั่งตะวันตกจะหรูหรามีระดับเพราะดูหนังมากไป
ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กหญิงจนกระทั่งเกรซเติบโตมาเป็นนางสาว เกรซคิดเสมอว่าประเทศทางฝั่งตะวันตกนั้นจะพัฒนาไปทั่วทุกซอกทุกมุม เกรซต้องโทษสื่อที่มีจำนวนจำกัดในประเทศไทย และสื่อจากประเทศอเมริกาที่มักจะสร้างภาพวาดฝันไปทั่วโลก และได้ทำให้คนเข้าใจผิด 
     ในประเทศไทยนั้นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติมีให้บริการอยู่แค่ 5 – 7 ช่อง ก่อนที่เกรซจะจากเมืองไทยในปี 2005 เกรซจำได้ว่ามีแค่ 6 ช่องเท่านั้น และภาพยนต์ต่างชาตินั้นมีออกอากาศอยู่แค่สองสามเรื่องต่ออาทิตย์ ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นหนังที่มาจากประเทศอเมริกาซึ่งใครๆ ก็รู้ดีว่าหนังอเมริกันนั้นเป็นเช่นไร ก็คือว่า ทุกอย่างต้องใหญ่ ทุนสร้างมหาศาร รถคันใหญ่ บ้านหลังโต ต่างๆนาๆ รวมถึงการที่เกรซไม่ค่อยมีความรู้ทางภูมิประเทศ เธอจึงนึกไปเองว่าคนในโลกนี้มีแค่สองสามเชื้อชาติเท่านั้น เวลาที่เธอเห็นคนผิวขาวเธอจะเหมาว่าเขาทั้งหมดเป็นชาวอเมริกัน ถึงแม้ว่าผู้ปกครองของเธอจะบอกเธอว่า คนๆ นั้นเป็นชาวอังกฤษและบางคนเป็นชาวฝรั่งเศษก็ตาม แต่เกรซก็ยังนึกว่าคนอังกฤษและคนฝรั่งเศษเป็นกลุ่มคน ที่มาจากประเทศอเมริกาอยู่นั่นเอง เหมือนดังเช่นที่เธอคิดว่าคนเกาหลี คนจีน คน ไต้หวัน นั้นมาจากประเทศญี่ปุ่น และคนที่มาจากประเทศปากีสถาน บังกลาเทศ ซาอุ เลบานอน นั้นจะมาจากประเทศอินเดีย
     ดังนั้นเธอจึงคิดไปเองว่าชาวตะวันตกผิวขาวทุกคนนั้นเป็นชาวอเมริกัน และการที่ภาพยนต์ที่ถูกนำมาฉายในประเทศไทยนั้นมีจำนวนจำกัด และส่วนใหญ่จะเป็นหนังฮอลลิวูดซึ่งมาจากประเทศอเมริกานั้น ได้มีแต่ภาพของตึกใหญ่ๆ โตๆ เธอจึงคิดไปเองว่าประเทศที่มีคนขาวล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และทุกคนที่เป็นคนขาวนั้นจะเป็นผู้ที่มีฐานะร่ำรวยทั้งหมด แต่มันไม่ใช่เลย

ตัวอย่างภาพยนต์อเมริกัน 

ชีวิตนักศึกษานานาชาติ
จากความจำลางๆ ของเกรซ ดังเช่นใครหลายคนที่มาจากประเทศทางฝั่งตะวันออกของโลก เกรซตื่นเต้นจนตัวสั่นเพราะว่าเธออยากจะเห็นประเทศอังกฤษซะเหลือเกิน เกรซเคยไปเที่ยวต่างประเทศมาบ้างแล้ว แต่เธอยังไม่เคยเดินทางไปไหนไกลถึงประเทศอังกฤษ
     ในการเดินทางไปต่างประเทศของคนไทยนั้นมันเป็นมากกว่าการท่องเที่ยว พักผ่อนในวันหยุด มันถูกใช้เป็นสิ่งโอ้อวดที่แสดงถึงฐานะ ความมั่งมีของบุคคลและครอบครัวนั้นๆ อีกด้วย เนื่องจากการเที่ยวต่างประเทศจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงแล้ว ยังต้องมีการแสดงความมั่นคงของประวัติฐานะทางการเงินของแต่ละบุคคลในการทำวิซ่าด้วย ส่วนการไปเมืองนอกเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาในต่างประเทศ อย่างเช่นประเทศอังกฤษนั้น เป็นเหมือนดังเช่นความฝันกลายเป็นความจริงของใครหลายๆ คนเลยทีเดียว เพราะนอกจากบุคคลนั้นจะต้องแสดงฐานะทางการเงินแล้ว เขายังต้องแสดงความสามารถในการศึกษาโดยเฉพาะความสามารถในการใช้ทักษะภาษาอังกฤษ การเขียน การอ่าน การฟัง และสิ่งสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดก็คือ การพูด นักเรียนไทยส่วนใหญ่แล้วถูกสอนมาเต็มเปรี่ยมในเรื่องของพยากรณ์อังกฤษ แต่ขาดความสามารถในการพูด และเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า คนไทยไม่มีโอกาสที่จะได้ฝึกทักษะการพูด การคุย ภาษาอังกฤษบ่อยนัก นอกเสียจากว่าบางคนนั้นจะมีเพื่อนเป็นเจ้าของภาษาคุยอยู่ด้วยเสมอ อย่างไรก็ตามกลุ่มนักเรียนที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีในทุกทักษะก็คือ กลุ่มของเด็กนักเรียนนานาชาติ

ค่าธรรมเนียมการศึกษาในประเทศไทย
การศึกษา (โดยเฉพาะระดับประถมถึงระดับมัธยม) ในประเทศไทยนั้นไม่ได้ฟรีเหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ  ในบางสถาบันนั้น ภาษาอังกฤษไม่ได้ถูกนำมาสอนจนกระทั่งชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนประเภทนี้จะเป็นโรงเรียนที่สร้างขึ้นโดยรัฐบาล และค่าธรรมเนียมจะถูกอยู่แค่ประมาณ 250 บาท (£50) ต่อเทอม โรงเรียนอีกระบบหนึ่งคือโรงเรียนเอกชนซึ่งมีการสอนภาษาอังกฤษกันตั้งแต่ปีแรกที่เด็กเข้าเรียน แต่สอนแค่อาทิตย์ละหนึ่งถึงสองครั้งเท่านั้น ค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียนเอกชนนั้นอยู่ระหว่าง 5,000 – 30,000 (£100-600) บาทต่อเทอม และยังมีโรงเรียนอีกระบบที่เรียกว่า โรงเรียนนานาชาติ ซึ่งในทุกวิชาจะถูกสอนเป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นวิชาภาษาไทยและค่าธรรมเนียมนั้นอาจสูงได้ถึง 1,000,000 บาท (£20,000) ต่อปีเลยทีเดียว หลังจากที่เกรซได้ออกเดินทางจากเมืองไทยมาที่ประเทศอังกฤษนั้น สถาบันการศึกษาของไทยยังมีระบบที่เรียกว่า "bi-lingual" ที่นักเรียนเรียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เธอไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบนี้มากนักเนื่องจากระบบนี้เพิ่งจะมาโด่งดังตอนที่เธอเดินทางออกจากเมืองไทยแล้ว

ตัวอย่างค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย
ที่มา: rism.ac.th
ตัวอย่างค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย 
ที่มา: isb.ac.th
(ท่านสามารถคลิกไปที่ภาพเพื่อที่จะดูภาพขยายที่ชัดเจนขึ้น)


ค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ต้องจ่ายมากกว่าคนท้องถิ่นถึง 3 เท่าตัว 
ในการทำวีซ่านักเรียนนั้น นักศึกษาจะต้องแสดงสถานะทางการเงินที่ทำให้เห็นว่านักเรียนนั้น มีเงินมากพอที่จะครอบคลุมทั้งค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าครองชีพ แล้วค่าธรรมเนียมการศึกษาสำหรับนักเรียนที่สนใจจะไปเรียนในประเทศอังกฤษนั้นแพงจนน่าใจหาย เกรซรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมเอาซะเลย ที่นักเรียนจากสหราชณาจักรกับนักเรียนในสหภาพยุโรปจ่ายค่าธรรมเนียมกันแค่ประมาณ 3,000 ปอนด์ต่อปี ในขณะที่เธอกับเพื่อนนักเรียนชาวไทยต้องจ่ายมากกว่า 9,000 ปอนด์ต่อปี (ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายตรงนี้จะถูกเปลี่ยนโดยรัฐบาลในเร็วๆ นี้ โดยจะมีการปรับค่าธรรมเนียมสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของประเทศอังกฤษให้มากกว่า 9,000 ปอนด์สำหรับนักเรียนท้องถิ่นด้วยก็ตาม) ก่อนที่เกรซจะมาถึงที่ประเทศอังกฤษ เธอคิดว่าทุกคนนั้นจ่ายค่าธรรมเนียมเท่ากัน จนกระทั่งเธอได้ค้นหาข้อมูล และพบความจริงในเว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัยของเธอ รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่นๆ และที่เจ็บปวดที่สุดก็คือ เกรซสังเกตเห็นว่าค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกันนั้นส่วนใหญ่แล้วจะถูกแสดงไว้กันคนละหน้าของเว็ปไซต์อีกด้วย

ตัวอย่างค่าธรรมเนียมสำหรับนักเรียน
ในสหราชอาณาจักรกับนักเรียนในสหภาพยุโรป
ที่มา: lsbu.ac.uk
ตัวอย่างค่าธรรมเนียมสำหรับนักเรียนต่างชาติ
ที่มา:  lsbu.ac.uk

จะเห็นได้ชัดว่าการที่จะทำวีซ่านักเรียนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนักศึกษาจะต้องมีความพร้อมในเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว นักศึกษายังต้องมีคุณสมบัติ ที่จะผ่านการทดสอบต่างๆ เช่น ในการที่จะสอบเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญา โดยเฉพาะปริญญาโทและปริญญาเอกในประเทศอังกฤษนั้น ผู้ผ่านการคัดเลือกจะต้องผ่านการทดสอบความรู้ความเข้าใจในระดับภาษาอังกฤษ หรือไม่ก็แสดงผลสอบภาษาอังกฤษ เช่น TOEFL หรือ IELTS  บางมหาวิทยาลัยยังมีการทดสอบวิชาอื่นๆ ซึ่งแตกต่างกันไปตามคณะที่นักศึกษาต้องการที่จะลงทะเบียนเรียน เช่น ในคณะบริหารธุรกิจอาจจะมีการสอบข้อเขียนในเรื่องของตัวเลข พร้อมทั้งการสอบสัมภาษณ์ที่เป็นภาษาอังกฤษเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปและวิชาที่เรียนมา นอกจากนี้แล้วยังมีการดูเกรดเฉลี่ยของผลการเรียน เช่น สำหรับนักเรียนที่ต้องการจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทนั้น จะต้องมีเกรดเฉลี่ยในระดับปริญญาตรีขั้นต่ำที่สูงกว่า 2.70


ตัวอย่างคุณสมบติของผู้ที่ต้องการศีกษาต่อระดับปริญญาโทในประเทศอังกฤษ
ภาพโดย: grad.au.edu


ดังนั้นความสามารถและในการที่จะมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ดังเช่นประเทศอังกฤษนั้น มันไม่ใช่สิ่งที่ใครหลายคนสามารถทำได้ เพราะไม่เพียงแต่เงินจะต้องถึง แต่นักศึกษาต้องมีความสามารถบ้าง เพื่อที่จะผ่านการทดสอบต่างๆ ได้ เกรซสามารถผ่านจุดนี้มาได้สบาย แต่นั้นก็เป็นเพียงเพราะว่า เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งหนึ่งในประเทศไทยนั่นเอง เมื่อเกรซผ่านความยุ่งยากและการทดสอบต่างๆ ไปได้ เธอก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ เธอจำได้ว่าหนึ่งอาทิตย์ก่อนที่เธอจะจากบ้านเกิด เธอยุ่งมากกับการจัดกระเป๋า หากลองคิดถึงการจัดกระเป๋าเพื่อการท่องเที่ยวผักผ่อนสั้นๆ ว่ามันเจ็บปวดแค่ไหนก็ลองนึกดูว่าถ้าต้องจัดกระเป๋าสำหรับการเดินทางเป็นปีมันจะเป็นอย่างไร ในที่สุดเกรซจัดกระเป๋าไปได้ 3 ใบด้วยกันและแล้วมันก็น้ำหนักเกิน แต่โชคดีที่เกรซไม่ได้เดินทางคนเดียว เธอยังไปกับเพื่อนร่วมชั้นอีก 16 คน เธอจึงจัดการขอให้เพื่อนคนหนึ่งถือกระเป๋าเดินทางให้เธอ


เราชอบความหนาว
หลังจากการเดินทางที่ยาวนานและเหนื่อยล้า เกรซก็ได้มาถึงสนามบินฮีโทรว์ตอนปลายเดือนมกราคม เธอรู้สึกว่าวันนั้นเป็นวันที่หนาวมาก แต่ด้วยความที่เธอชอบอากาศหนาวเธอจึงเดินออกจากสนามบิน ไปที่รถรับส่งโดยไม่ได้สวมเสื้อกันหนาว ก็มีแค่เสื้อและกางเกงยีนส์ ผู้อำนวยการคอร์สที่เธอมาเรียนนั้นต้องบอกให้เธอสวมเสื้อกันหนาว เนื่องจากว่าท่านคงจะเกรงว่าเกรซจะไม่สบาย ซึ่งเธอก็ไม่สบายจริงๆ ต่อมาในไม่กี่อาทิตย์ เหตุผลที่เกรซทำเช่นนั้นก็เพราะว่าเธอมาจากประเทศที่มีภูมิอากาศอบอุ่นและอากาศจะเป็นแบบร้อน ร้อนมากกว่า และก็ร้อนที่สุด ไม่ใช่แบบ ฤดูร้อน ฤดูหนาวและฤดูฝนตามแบบที่ระบุไว้ ดังนั้นเธอจึงอยากที่จะได้สัมผัสอากาศหนาวสุดๆ เกรซเห็นความหนาว ว่าเป็นความหรูหรา เพราะในเมืองไทย บ้านบางบ้านเท่านั้น ที่มีเครื่องปรับอากาศทำความเย็นเพราะว่าค่าติดตั้งนั้นแพงและค่าใช้จ่ายในการมีไว้ใช้ก็สูง เพราะค่าไฟแพงและเกรซก็เชื่ออีกว่า นี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนไทยมีรสนิยมชอบคนที่มีผิวสีขาวเพราะว่ามันแสดงให้เห็นถึงความร่ำรวย ว่าบุคคลนั้นๆ มีเงินที่จะอยู่ห่างจากแสงแดดได้


จ่ายแพงแต่ได้ของห่วย
รถรับส่ง ส่งเกรซและเพื่อนร่วมชั้นที่หอพักนักศึกษา ที่นักเรียนได้ทำการจองและจ่ายล่วงหน้าเอาไว้แล้ว ก่อนที่จะเดินทางออกจากประเทศไทย เกรซตื่นเต้นที่จะได้เห็นห้องพักของเธอเพราะเธอได้เห็นรูปภาพหอพักนักเรียนในเว็ปไซต์ที่ดูดี และตึกก็ดูเป็นแบบอังกฤษจ๋าเลยทีเดียว

รูปภาพตึกหอพักนักศึกษาจากเว็ปไซต์
 ภาพโดย: lsbu.ac.uk 
รูปภาพห้องพักนักศึกษาจากเว็ปไซต์
ภาพโดย: lsbu.ac.uk


แต่พอเกรซได้เห็นห้องของเธอ เธอรู้สึกตกใจนิดหน่อยเพราะว่าสภาพห้องนั้นไม่ได้แตกต่างจากห้องราคา 2,000 - 3,000 บาทต่อเดือนในกรุงเทพฯ ในขณะที่เธอจ่ายไปถึง 4,600 บาทต่ออาทิตย์ จุดนี้เป็นจุดแรกที่เกรซเริ่มรู้สึกคิดถึงบ้าน เพราะว่าเงินจำนวน 4,600 บาทต่ออาทิตย์นั้นเทียบเท่ากับเงินจำนวน 29,440 บาทต่อเดือนในช่วงปีนั้น ซึ่งเป็นปี 2006 ที่ค่าเงินปอนด์อยู่ที่ 1 ปอนด์ต่อ 80 บาทเลย จำนวนเงินนั้นสามารถนำมาใช้เช่าอพาร์ทเมนท์ 2 - 3 ห้องนอนในกรุงเทพฯ ที่มีทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส สถานออกกำลังกาย อ่างจากุซซี่ ห้องเซาว์น่า และห้องอบไอน้ำร้อนได้สบายเลยทีเดียว

ตัวอย่างห้องเช่า 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ราคา 30,000 บาทต่อเดือนในกรุงเทพ 
ภาพโดย: propt69.com
ตัวอย่างห้องเช่า 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ราคา 25,000 บาทต่อเดือนในกรุงเทพ
ภาพโดย: propt69.com
(ท่านสามารถคลิกไปที่ภาพเพื่อที่จะดูภาพขยายที่ชัดเจนขึ้น)


ตรากตำกับเรื่องของอาหาร
โชคดีที่เกรซชอบอาหารตะวันตกและเคยชินกับการกินขนมปังเธอจึงปรับตัวได้ง่าย แต่ส่วนใหญ่คนไทยในต่างแดนนั้นมักจะโหยหาอาหารจากบ้าน และโชคก็ไม่เข้าข้างเอาซะเลยเพราะเพื่อนร่วมชั้นเรียนส่วนใหญ่และตัวเธอเองนั้นทำกับข้าวกันไม่ค่อยจะเป็น สาเหตุที่พวกเราส่วนใหญ่นั้นทำกับข้าวกันไม่ค่อยเป็น เป็นเพราะว่าในตัวเมืองที่พัฒนาแล้วจะมีร้านขายอาหารอยู่ทุกที่ อาหารที่ทั้งดีและถูก ตัวอย่างเช่น ข้าวผัดราดแกงหรือราดผัดกับหนึ่งอย่าง หรือก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามในร้านอาหารตามท้องถิ่นทั่วไปนั้น ราคาจะตกอยู่ที่ 50 บาท ไม่เหมือนในประเทศอังกฤษซึ่งราคาจะอยู่ที่ 6 ปอนด์ ซึ่งตกอยู่ที่ประมาณ 300 บาทเลยทีเดียว



ก๋วยเตี๋ยวเมืองไทยชามละ 50 บาท
ภาพโดย
: iampr.net
ก๋วยเตี๋ยวที่อังกฤษชามละ 300 บาท
ภาพโดย
: telegraph.co.uk


ดังนั้นเกรซและเพื่อนตอนอยู่เมืองไทย จึงมักจะรับประทานอาหารนอกบ้านกัน แต่ก็มีคนกรุงที่ชอบทำอาหาร แต่น้อยเพราะว่าการซื้ออาหารทานเอานั้น ทั้งถูกและง่าย ไม่ต้องมาจัดเตรียมและล้างจานที่หลังอีกด้วย เพื่อนร่วมชั้นบางคนของเกรซนั้นไม่เคยทำกับข้าวเลยด้วยซ้ำ บางคนมักจะบ่นกับเกรซว่าชีวิตที่อังกฤษนั้นลำบากเหลือเกินเพราะบางคนตื่นมาตอนเช้า คนใช้ก็ทำอาหารมาวางไว้ให้หน้าห้องนอนแล้ว สำหรับเกรซนั้น เธอก็เพียงแค่เดินลงมาจากห้องนอนที่อยู่ชั้น 3 ของเธอและส่วนใหญ่ผู้ปกครองของเธอ ก็จะเตรียมหาอาหารไว้ให้ที่โต๊ะรับประทานอาหาร
     เกรซจำได้ว่า ก่อนที่เธอจะเดินทางจากบ้านนั้น เธอรู้สึกว่าเธอจะต้องอยากรับประทานอาหารไทยขึ้นมาสักวันหนึ่งแน่ๆ เธอจึงได้ขอให้คุณแม่ของเธอนั้นช่วยสอนการทำแกง เธอประหลาดใจที่ได้เห็นคุณแม่ของเธอนั้นตั้งกะทะขึ้นมา เพราะเธอคิดเสมอมาว่าการทำแกงนั้นต้องใช้หม้อแกง เนื่องจากเธอมักจะเห็นแกงที่ขายนั้นอยู่ในหม้อ เธอคิดว่ากะทะนั้นใช้สำหรับอาหารผัดเท่านั้น เธอไม่อยากจะเชื่อตัวเองว่า เธอโตจนอายุ 25 แล้วแต่เพิ่งจะรู้ ว่าการทำแกงเขาทำกันยังไง แต่ไม่ใช่ว่าเธอทำกับข้าวไม่เป็นเลย เธอสามารถทอดไข่และผัดกระเพราไก่ได้บ้าง
     ในจำนวนนักเรียนทั้งหมด ไม่มีใครเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือในการทำกับข้าวมาเลย บ้างก็ต้องออกไปซื้อกะทะเพื่อที่จะนำมาทำกับข้าว ตามแบบฉบับของไทยเรา เกรซพบว่าการจ่ายตลาดนั้นเป็นดังเช่นฝันร้าย เพราะเธอไม่เคยจ่ายกับข้าวมาก่อน ฉะนั้นเธอจึงเกิดอาการงง ในการเลือกผักแต่ละชนิดว่าผักชนิดไหน ใช้กับอาหารจานไหน เพราะผักนั้นก็ดูเหมือนกันไปซะหมด ดังนั้นเพื่อทำให้อะไรๆ มันง่ายขึ้นเธอจึงไปซื้ออาหารแช่แข็งมารับประทาน แต่เธอก็ไม่เคยรับประทานอาหารแช่แข็งสำเร็จรูปมาก่อน เธอได้ไปซื้อปลาอบเนยแช่แข็งที่จะต้องนำมาใส่ไมโครเวฟหรือต้มในการปรุง แต่เพราะเธอไม่รู้เธอจึงนำมันมาทอดซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เธอไม่ตระหนักว่าเธอต้องอ่านคู่มือการปรุงเสียก่อน ตอนหลังพอเธอมารู้ว่าเธอปรุงผิดวิธี เธอดีใจมากที่เธอไม่เป็นอะไรไปวันนั้น

ตรากตำกับการเรียน
ในช่วงอาทิตย์แรกนักเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นไข้หวัดกันเป็นแถวรวมทั้งตัวเกรซเองด้วย เกรซไอราวดังว่าปอดของเธอจะหลุดออกมาจากอกของเธอเลยทีเดียว เธอคิดว่ามันเป็นเพราะความหนาว (สามีของเธอให้ความคิดเห็นว่า มันไม่ใช่ ไข้หวัดนั้นไม่ได้เกิดจากความหนาวแต่เกิดจาก การที่เธอได้ไปติดคนอื่น ที่เป็นไข้หวัดบนเครื่องบินมา) โชคดีที่เกรซยุ่งกับการเรียนมากจนเธอนั้นไม่มีเวลาที่จะบ่นหรือรู้สึกเศร้ากับการป่วยหรือที่พักอาศัย การกิน การอยู่ ที่ไม่ค่อยจะสบายนัก แต่ก็ยังมีที่เพื่อนร่วมชั้นเรียนของเธอที่ถึงกับร้องไห้ ด้วยความคิดถึงบ้านและด้วยความลำบากในการใช้ชีวิตเมืองนอก
     หลังจากที่นักเรียนมาถึงได้หนึ่งอาทิตย์นั้น ทางมหาวิทยาลัยได้จัดงานที่เรียกว่า “residential weekend” ซึ่งเป็นงานที่ทำให้นักเรียนได้รู้จักและคุ้นเคยกัน เนื่องจากคอร์สที่เกรซสมัครมาเรียนนั้นเป็นคอร์สร่วม ระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ซึ่งในเทอมแรกนั้นการเรียนการสอนจัดขึ้นที่ประเทศไทย ดังนั้นเธอและเพื่อนร่วมชั้นเรียนในประเทศไทยจึงไม่เคยได้พบปะ รู้จักกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนคนอื่นๆ ในประเทศอังกฤษ


บรรยากาศในวันงาน Residential Weekend


งานนี้มันเป็นอะไรที่เกรซคาดไม่ถึงว่าจะมีการให้ความรู้แฝงอยู่มากมาย เธอเสียดายว่า หากเธอรู้และเข้าใจจุดประสงค์ของงาน เธอคงจะได้เตรียมตัวของเธอให้พร้อม เพื่อที่เธอจะได้รับความรู้อย่างเติมที่ อย่างไรก็แล้วแต่เธอก็ยังรู้สึกสนุกเพราะเธอพบเพื่อนร่วมชั้นคนอื่นๆ ซึ่งมาจากหลายเชื้อชาติ ทั้ง ชาวอเจนติน่า ชาวเบลเยี่ยม ชาวฝรั่งเศส ชาวอเมริกา ชาวโปแลนด์ ชาวจีน ชาวกรีซ ชาวเวเนซุเอล่า และอื่นๆ อีกมากมาย เกรซจำได้ว่านักเรียนชาวอังกฤษนั้นไม่ค่อยมี เท่าที่เธอจำได้เธอรู้สึกว่ามีเพื่อนร่วมชั้นชาวอังกฤษอยู่แค่ 2 คน ในจำนวนนักเรียนกว่า 40 คน

ลักษณะการเรียนการสอนของชาวตะวันตก
เกรซชอบลักษณะการสอนของอาจารย์ผู้สอนเป็นอย่างมาก เธอไม่รู้ตัวจนกระทั่งเธอได้ทำงานแล้ว ว่าเธอได้รับความรู้มามากทีเดียว และด้วยที่ว่าเกรซนั้นเป็นคนชอบภาษาอังกฤษ เธอจึงมีความสุขเพียงแค่ได้นั่งมองอาจารย์พูดไปวันๆ การทำรายงานและการเสนองานหน้าชั้นเรียนนั้นมีอยู่เป็นประจำ เกรซเกลียดการเสนองานหน้าห้องเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งที่เธอกำลังเสนองาน จนมาถึงสไลด์พาวเวอร์พอยท์แผ่นสุดท้าย เธอได้เผลอพูดออกมาในชั้นเรียนว่า สไลด์สุดท้ายแล้ว เกรซรู้สึกว่าการเรียนการสอนของชาวต่างชาตินั้น แตกต่างจากการเรียนการสอนในประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าเธอจะไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าทำไม แต่เธอสามารถอธิบายได้เคร่าๆ ว่า ในประเทศไทยนั้นนักเรียนจะถูกสอนให้จำ แต่ในทางตรงกันข้าม ในประเทศอังกฤษนักเรียนจะถูกสอนให้ใช้ความเข้าใจ ดังนั้นเกรซจึงเริ่มที่จะรู้จักเรียนรู้ โดยใช้ความเข้าใจไม่ใช่แค่การท่องจำ เธอจึงสามารถที่จะนำความรู้นั้นมาใช้ในการปฏิบัติงานจริงได้
     จะถามว่า เกรซรู้ได้อย่างไร ว่าก่อนหน้านั้นเธอไม่รู้จักการนำความรู้มาใช้ในทางปฏิบัติ เรื่องราวมันก็มีอยู่ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เธอต้องทำการบ้านส่งอาจารย์ เกี่ยวกับสินค้าตัวหนึ่ง ซึ่งเธอจำไม่ได้ว่าเป็น รถหรืออะไรสักอย่าง (แต่เป็นสินค้าชิ้นใหญ่)  เธอต้องทำการโปรโมทสินค้าชิ้นนั้น และเธอได้ตอบไปตามตำราหนังสือที่เธอจำมาเป๊ะว่า ควรจะโปรโมทโดยการใช้ คูปอง โฆษณาทางโทรทัศน์ และซื้อ 1 แถม 1  พอเกรซส่งงานไปเป็นที่เรียบร้อย อาจารย์ของเธอ ก็ได้ตรวจเช็คคำตอบและส่งงานกลับมาพร้อมกับได้วงกลมตรงคำว่า ซื้อ 1 แถม 1 และเขียนคอมเมนต์ข้างๆ ไว้ว่า มันจะแพงนะหากจะใช้ ซื้อ 1 แถม 1 ในการโปรโมทสินค้าที่เป็นรถ เกรซก็เริ่มเข้าใจถึงปัญหาแต่ไม่ได้เข้าใจเต็มที่นักในตอนนั้น เธอก็ได้แต่คิดว่าเธอนี่งี่เง่าจริงๆ  เนื่องจากเธอพยายามจะใส่ตัวโปรโมชั่นทั้งหลายลงไปในช่องคำตอบ ที่เธอจำมาจากในหนังสือเรียน ให้ได้มากที่สุด จนไม่ลืมหูลืมตาคิด (จำๆ มาแล้วก็เอามาใส่) จนกระทั่งให้หลังมาไม่นานเกรซได้มาตระหนักว่า เธอนั้นไม่รู้จักการนำความรู้มาใช้ในทางปฏิบัติ ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของสถานะการณ์จริงนั่นเอง


ภาพโดย: funingallery.com

 ประสบการณ์ประทับใจอีกอันหนึ่งที่เกรซนั้นไม่เคยลืมเลือนนั่นก็คือ เหตุการณ์ที่อาจารย์ของเธอได้เชิญเพื่อน ที่เป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานที่ประสบความสำเร็จในทางการตลาดอย่างสูงไปทั่วโลก ของบริษัทอดิดาส มาให้ความรู้กับนักศึกษาในชั้น เกรซรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่เจ๋งทีเดียว เพราะมันเหมือนกับเธอได้เจอดาราคนหนึ่งยังไงยังงั้นเลย


การเขียนวิทยานิพนธ์และวันที่สำเร็จการศึกษา
คอร์สเรียนนั้นยากมากและส่วนใหญ่แล้วนักเรียนทุกคนก็จะได้คะแนนไม่ห่างจากเส้นยาแดงผ่าแปดมากนัก ทุกคนรู้สึกหมดกำลังใจ เพื่อนของเกรซบางคนถึงกับสอบตกก็มี ตอนเกรซเข้าเรียนใหม่ๆ เกรซก็ร้องให้กับตัวเองครั้งสองครั้ง เธอไม่เคยคิดเลยว่าเธอจะผ่านพ้นมาได้ มีอยู่บ่อยครั้งที่เธออยากจะยอมแพ้ ขนาดที่ว่าในเทอมสุดท้ายเธอไม่ต้องการแม้แต่จะทำรายงานวิทยานิพนธ์อีกต่อไป เธอรู้สึกหมดแรง และบอกกับตัวเองว่า เธอพอใจแล้วกับการที่จะได้รับแค่ประกาศนียบัตร (ในการเรียนปริญญาโทนั้นจะมี 3 เทอม - เทอมแรกและเทอมที่สองจะเป็นการเรียนรายวิชา แต่เทอมที่สามนั้น นักศึกษาจะต้องเขียนวิทยานิพนธ์ หากนักศึกษาไม่เขียนวิทยานิพนธ์ก็ได้ แต่ก็จะไม่ได้รับวุฒิปริญญาแต่จะได้ประกาศนียบัตรเท่านั้น)
     การเขียนวิทยานิพนธ์นั้นชีช้ำดีเหลือเกินแต่มันก็ทำให้เกรซได้ดี เกรซต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ผู้ดูแลควบคุมงานวิทยานิพนธ์ของเธอ เพราะเธอคงจะไม่สามารถผ่านพ้นมาได้ถ้าไม่ได้อาจารย์ท่านนี้ เกรซต้องเขียนวิทยานิพนธ์ขึ้นมาจำนวน 20,000 คำและเธอยังมาตัดสินใจเปลี่ยนหัวข้อเรื่องที่หลังอีกด้วย มันทำให้งานนั้นยากขึ้น แต่ก็ทำให้เกรซได้ความรู้มากทีเดียวซึ่งมันก็คุ้มกัน เพราะความยากมากเหลือเกินและด้วยความขี้เกียจของเกรซ ที่ครั้งหนึ่งอาจารย์ของเธอต้องอีเมล์มาว่าเธอว่า เธอนั้นชอบพลัดวันประกันพรุ่งและควรที่จะนำคำขวัญของบริษัทไนกี้ที่ว่า “Just do it”  (ซึ่งแปลง่ายๆว่า แค่ทำมันซะ) มาใช้


ภาพโดย: catchwordbranding.com

เกรซจึงรู้สึกเหนื่อยล้า เพราะในขณะนั้นเธอได้ทำงานไปด้วย เธอจึงมาตัดสินใจว่าเธอนั้นไม่ต้องการที่จะทำวิทยานิพนธ์อีกต่อไป แต่มีอยู่วันหนึ่งเกรซฝันว่าเพื่อนคนหนึ่งของเธอ มาอวดว่าตนนั้นได้รับปริญญา เธอนั้นได้ตื่นขึ้นมาและรู้สึกเศร้า ที่ว่าเธอได้เดินทางมาไกลแล้ว และถ้าเพื่อนของเธอทั้งหมดได้รับปริญญาแต่เธอไม่ได้ เธอจะต้องเสียใจภายหลัง ด้วยสาเหตุนั้นเองเธอจึงเปลี่ยนใจและตัดสินใจที่จะเขียนวิทยานิพนธ์ต่อ และการที่เกรซมาตัดสินใจในวินาทีสุดท้ายทำให้เธอมีเวลาไม่พอ เธอจึงต้องทำการขอต่อเวลาซึ่งทำให้เธอเสียเงินไปอีก 8,000 บาท การขอต่อเวลาที่เธอได้มานั้นมันก็แค่ 1 เดือนเท่านั้น เธอใช้มันจนหยดสุดท้าย เธอจำได้ว่าเธอไม่ได้หลับไม่ได้นอนเพราะเธอต้องปริ้นท์วิทยานิพนธ์ออกมา 2 ชุดด้วยกันและเธอก็ต้องมาปรับเอกสารเพราะมันมีตารางที่เลื่อนไปเลื่อนมาไม่อยู่กับที่ จนกระทั่งรุ่งเช้าเธอต้องออกไปหาร้านเย็บเล่ม ซึ่งเธอต้องฝากไว้แล้วมารอรับตอนเย็น แล้วหลังจากนั้นเธอต้องรีบไปที่ ที่ทำการไปรษณีย์ ก่อนที่ที่ทำการไปรษณีย์นั้นจะปิด เพื่อที่จะส่งงานวิทยานิพนธ์ แล้วเธอก็ทำได้ในที่สุด ณ เวลานั้นเธอรู้สึกทั้งเหนื่อย ทั้งล้าแต่ก็มีความสุข ในขณะเดียวกัน
     กว่าผลสอบจะออกนั้น ก็ใช้เวลาอยู่สักพักหนึ่ง เกรซตื่นเต้นและกังวลใจแทบทุกวันทุกคืน เธอจำได้ว่าตอนที่เธอได้รับผลประกาศทางไปรษณีย์ เธอกระโดดโลดเต้นและวิ่งแจ้นไปบอกเจ้าของบ้านที่เธอเช่าอยู่กับเพื่อนร่วมบ้านของเธอ ว่าเธอสำเร็จการศึกษาแล้ว ก่อนวันรับปริญญาเกรซได้จัดการให้คุณแม่ของเธอมาหาเธอจากกรุงเทพฯ เกรซรู้สึกเศร้าแทนคุณแม่ที่ท่านจะต้องเดินทางคนเดียว แต่ก็ภูมิใจในตัวคุณแม่ของเธอ เพราะเกรซรู้ว่าคุณแม่ของเธอต้องรู้สึกกังวลในการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล เพราะท่านไม่รู้ภาษาอังกฤษ แต่คุณแม่เธอนั้นกล้าหาญและสามารถบินคนเดียวได้ เกรซจำได้ว่าตอนที่คุณแม่ของเธอมาถึงท่าอากาศยานในประเทศอังกฤษนั้น คุณแม่ของเธอเกือบจะร้องไห้ เนื่องจากวันนั้น เผอิญที่ท่าอากาศยานได้พบสิ่งของต้องสงสัยที่นึกว่าเป็นระเบิด จึงมีการประกาศให้ผู้โดยสารทุกคนออกจากท่าอากาศยานที่ประตูที่ถูกกำหนดไว้ ซึ่งเป็นประตูที่ไม่ใช่ประตูที่เป็นจุดนัดพบที่เกรซกับคุณแม่ตกลงกันไว้ ว่าเกรซจะไปรอท่าน แต่พอเกรซได้ยินเสียงประกาศว่าผู้โดยสารทั้งหมดจะต้องไปออกประตูไหน เธอก็รีบออกไปตรงหน้าประตูนั้น เพื่อที่จะดักรอคุณแม่ของเธอ แต่เธอได้ยืนแอบอยู่ข้างหลังป้าย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากประตูทางออก เพื่อที่เธอจะได้เห็นคุณแม่ของเธอ แล้วเธอก็เห็นคุณแม่ของเธอเดินออกมา ทำท่าเหมือนจะร้องไห้ เธอก็โผล่ออกไปแล้วก็หัวเราะ แต่ลึกๆ แล้วเกรซรู้ว่ามันน่ากลัวจะตายสำหรับคุณแม่ของเธอ เพราะคุณแม่ของเธอไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ และเธอต้องเดินทางไกลมาเป็นร้อยๆ โลคนเดียว
     ในวันรับปริญญานั้นสุดยอด เกรซไม่เคยรู้สึกว่าเธอเคยประสบความสำเร็จมากเท่าวันนั้นมาก่อน เกรซรู้ได้เลยว่าคุณแม่ของเธอนั้นภูมิใจในตัวเธอ ทั้งสองคน แม่ลูกถ่ายรูปกันเต็มไปหมดเลยในวันนั้น

ผลของการระบุระดับการศึกษาในใบประกาศรับสมัครพนักงาน
หลังจากที่เกรซได้รับปริญญามาไว้ในครอบครองสมดั่งใจปราถนาแล้ว เกรซก็คิด สองจิต สองใจว่าเธอจะกลับบ้านหรืออยู่ที่ประเทศอังกฤษต่อดี เธออยากจะกลับบ้านมาก เพราะจากระบบการรับสมัครพนักงานในเมืองไทย ที่มีการระบุระดับการศึกษา โดยเฉพาะงานในตำแหน่งสูงๆ นั้น มันทำให้เกรซรู้ดีว่า ถ้าเธอกลับบ้านเธอจะได้ทำงานในตำแหน่งหน้าที่และเงินเดือนที่ดี และเธอยังสามารถหางานได้ง่ายอีกด้วย เช่นเดียวกันกับเพื่อนร่วมชั้นชาวไทยของเธอทั้ง 16 คนที่ได้กลับบ้านกันไปหมด เพราะไม่เพียงแต่เธอจะมีเส้นมีสายอยู่บ้าง แต่ในประเทศไทยนั้น จะมีจำนวนคนสักกี่คนที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท พร้อมทั้งเป็นปริญญาโทจากประเทศอังกฤษอีกด้วย
     ในขณะนั้นเกรซอยากกลับบ้านแบบสุดๆ เพราะเธอคิดถึงบ้าน พร้อมกันกับความรู้สึกที่เหนื่อยล้าเป็นอย่างมาก เพราะขณะนั้นเกรซต้องทำงานหาเลี้ยงตนเอง และงานที่เธอทำอยู่ ณ ตอนนั้น เป็นงานใช้แรงงาน ที่เธอต้องยืนเกือบตลอดเวลา เธอคิดอยู่เสมอว่าเธอน่าจะกลับบ้าน เธอจะได้ทำงานนั่งสบายๆ ในออฟฟิส แต่ในความยากลำบากนั้นเอง มันทำให้เกรซเริ่มคิดได้ เธอเริ่มคิดถึงและเข้าใจคนไทยที่ต้องลำบาก ทำงาน หามรุ่ง หามค่ำ หาเช้ากินค่ำ และบางคนนั้นต้องตรากตำ ทำงานหนักไปตลอดทั้งชีวิตของพวกเขาเลยทีเดียว

ทำงานหนักตรากตำไปตลอดชีวิตไม่มี โอกาส” ได้ผุดได้เกิด
คนที่ทำงานใช้แรงงานในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนจน และมีรายได้น้อย เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับการศึกษา หรือถ้าได้รับก็ไม่สูง เนื่องจากการที่เขาไม่มีวุฒิในการศึกษานั่นเอง เขาจึงไม่มี "โอกาส" ที่จะหางานดีๆ ได้ เพราะในประเทศไทยนั้นได้ระบุ ระดับการศึกษาในการรับสมัครพนักงานเอาไว้ ซึ่งแตกต่างจากประเทศอังกฤษ ที่ไม่ค่อยจะมีการระบุ วุฒิการศึกษา แม้ในตำแหน่งงานสูงๆ 
     สาเหตุที่ในประเทศอังกฤษนั้น ไม่มีการระบุการศึกษาก็เป็นเพราะว่า ประเทศอังกฤษต้องการจะให้สิทธิทุกคนเท่าเทียมกัน (เพราะบางคนนั้นอาจไม่มีเงินเรียนต่อในระดับปริญญา เนื่องจากในประเทศอังกฤษ การศึกษานั้นฟรีจนถึงอายุ 18 ปีเท่านั้น ไม่รวมระดับวิทยาลัยขึ้นไป) และเขาเชื่อว่าคนเราสามารถเรียนรู้งานได้ โดยการเรียนรู้จากประสบการณ์ การทำงาน  ไม่จำเป็นเสมอไปว่าคนจะต้องมีวุฒิปริญญาจึงจะมาทำงานดีๆ ได้
     การที่มีการระบุระดับการศึกษาไว้นั้น มันยังเป็นการแบ่งแยก ที่ทำให้คนบางกลุ่มเท่านั้นได้งานดีๆ นั้นก็คือ กลุ่มคนที่มีฐานะนั่นเอง เพราะการศึกษาในประเทศไทยนั้นไม่ได้ฟรี เพราะฉะนั้นคนจนที่ไม่มีเงินที่จะเรียนก็ไม่มีสิทธิที่จะได้งานดีๆ เลย  นี้เป็นแค่สาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้คนรวยก็รวยล้นฟ้า คนจนก็จนตายไปเลย ไม่มี "โอกาส" ที่จะได้ผุดได้เกิด
     บ่อยครั้งที่เกรซสังเกตเห็นคนที่มีฐานะดีในเมืองไทยนั้น มักจะคิดว่าตนเองนั้นเกิดมาเก่ง ว่าตนนั้นดีกว่าผู้อื่น เพราะดังที่เล่าในสองบทแรกว่า คนไทยนั้นเชื่อเรื่องโชคลาง กรรมดีกรรมชั่ว กรรมเก่ากรรมแก่ ส่วนคนจนก็มักจะคิดไปว่า ที่ตนจนนั้นเป็นเพราะว่าตนเกิดมาไม่มีบุญ รวมกับการที่คนจนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษามากนัก เขาจึงไม่สามารถเข้าใจและคิดพิจารณา ถึงความเป็นจริงได้ว่า มันเป็นที่ระบบ ที่ทำให้พวกเขาได้ผุดได้เกิดยากนั่นเอง

การแข่งขันที่สมบูรณ์และเป็นธรรมที่แท้จริง
พอเกรซเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างมากขึ้น เธอก็รู้สึกผิดและเสียใจอย่างมากเพราะก่อนหน้านี้ เธอก็เป็นคนหนึ่งที่นึกว่าตนเอง เกิดมาโชคดี เก่ง ฉลาด และเหนือกว่าคนอื่น  เธอนั้นไม่เคยมองหรือสนใจใยดีคนจนเลย เพื่อนเกรซหลายคนก็ชอบโอ้อวดถึงความเก่งกาจ ความฉลาดของตน ว่าตนนั้นเกิดมาฉลาด หลักแหลม ตัวอย่างเช่น เพื่อนของเกรซที่เรียนปริญญาโท สาขาการตลาด มาเล่าว่าเพื่อนของเธอนั้นสอบตก และทำตัวโอ้อวดว่าตนนั้นเก่ง เพราะตนสอบผ่าน แต่พอเกรซ ถามข้อมูลทั้งหมดแล้ว เกรซมาทราบที่หลังว่า ในห้องเรียนนั้น เพื่อนคนที่สอบตกนี้ได้จบปริญญาตรีสาขาเอกภาษาอังกฤษมา แต่นักเรียนในชั้นทุกคนนั้นจบสาขาธุรกิจการบริหารมาทั้งนั้น แล้วแบบนี้มันจะแปลกไหม ถ้าเพื่อนของเพื่อนเกรซคนนี้จะสอบตก เพราะเขาเรียนด้านภาษามา ไม่ได้เรียนด้านธุรกิจมาเหมือนกับคนอื่นๆ เกรซได้เห็นอีกว่า คนไทยที่มีการศึกษาที่ดี มีฐานะ มักจะชอบอวด ชอบเบ่ง และชอบแข่งขันกันเอง แต่เขาคงลืมคิดไปว่า ตนนั้นมีโอกาส มีพ่อแม่ ส่งเสียให้เล่าเรียนโรงเรียนดีๆ ได้
      ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้น ถ้าคนเราจะแข่งกันจริงๆ เราจะต้องทำตัวแปรต่างๆ ของทุกคน ให้เท่าเทียมกัน ตั้งแต่ตอนเกิด กล่าวคือ ทุกคน ต้องได้รับการศึกษา จากสถาบันเดียวกัน มีอาจารย์ผู้สอนคนเดียวกัน มีพ่อแม่ที่มีเงินส่งเสียให้เรียนที่เรียนดีๆ เหมือนกันและอยู่ล้อมรอบไปด้วยหมู่คนที่มีความรู้เท่าๆ กัน แล้วเราค่อยมาแข่งกัน แบบนั้นสิ มันถึงจะเป็นเกมส์ การแข่งขันที่สมบูรณ์และเป็นธรรมที่แท้จริง

อย่ามาบอกว่าเข้าใจคนจน
เกรซยิ่งคิดก็ยิ่งสงสารคนจนตาดำๆ เพราะเกรซเห็นมาตั้งแต่เล็กจนโตว่า คนกลุ่มนี้ถูกกดขี่มาตลอด คนรวยบางคนนั้นมักจะหาว่าคนจนนั้นเกิดมาจนเพราะโชคชะตา หรือไม่ก็จนเพราะความขี้เกียจ แต่นั้นก็เป็นเพราะว่าคนรวยนั้น ไม่เคยต้องมาอยู่ในจุดลำบากเหมือนคนจนๆ นั่นเอง เห็นได้ชัดจากเพื่อนของเกรซบางคน ที่หลังจากเรียนจบก็กลับไปช่วยงานประกอบธุรกิจที่บ้าน คนพวกนี้เขาก็จะไม่รู้รสชาติ ของความยากลำบาก ของการหางานหรือแม้แต่ในการต้องเป็นลูกจ้างที่ถูกทั้งโคกและสับ บางคนอาจบอกว่าเขาเคยไปเรียนอยู่เมืองนอก ได้ทำงานลำบากมา เพราะฉะนั้น เขารู้ว่าความยากลำบาก การเป็นขี้ข้าในการทำงานมันเป็นเช่นไร แต่คนที่พูดเช่นนี้นะ แท้จริงแล้วไม่รู้อะไรเลย เพราะอย่าลืมว่า ถึงพวกเขาจะทำงานใช้แรงงานก็จริง แต่พวกเขาทำอยู่แค่ในระยะเวลาสั้นๆ ตัวอย่างเช่น ตอนที่เกรซทำงานแล้วรู้สึกเหนื่อยขาแทบหลุด แต่เธอก็ทนได้เพราะเธอบอกตัวเองว่านี้มันเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น 
     เท่านั้นยังไม่พอคนพวกนี้ไม่ได้ทำงานเพื่อที่จะหาเลี้ยงตนเองแบบหาเช้ากินค่ำ คือเงินเดือนที่ได้มา ก็ต้องมาใช้จ่ายกับสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ส่วนใหญ่แล้วเขาทำงานเพื่อหารายได้พิเศษ แล้วรายได้ที่พวกเขาได้นั้นก็ดี เพราะในต่างประเทศนั้น กฎหมายบังคับให้มีค่าแรงขั้นต่ำ (ซึ่งจะถูกเล่าต่อในบทต่อไป บทที่ 4 ถึงความเป็นมา ของการมีค่าแรงขั้นต่ำในประเทศอังกฤษ ฉะนั้นคนทำงานแรงงานในประเทศอังกฤษ จึงได้ค่าแรงเทียบเท่ากับคนที่ทำงานในออฟฟิส) ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพวกเขาจะไม่รู้เลยว่า ถ้าจะต้องทำงานใช้แรงงาน แถมได้เงินเดือนแบบแทบไม่พอยาไส้ ไปตลอดชีวิตนั้นมันจะเป็นเช่นไร มันจะต้องทั้งเหนื่อย ทั้งท้อ เพราะเวลามองไปในอนาคต มันไม่ได้มีความก้าวหน้าอะไร รออยู่มากมาย แถมคนจนส่วนใหญ่นั้น ต้องมาเผชิญกับความลำบากในแต่ละวัน เช่น การที่จะต้องมารอรถเมล์แน่นๆ ที่ต้องยืนตลอดทาง บางทีฝนตก รถก็ติด กว่าจะได้กลับถึงบ้าน แถบจะไม่มีเวลาได้พัก ได้ทำอะไรเลย หัวถึงหมอนก็สลบไปเลย แถมรุ่งเช้าต้องตื่นตีห้า หกโมงเพื่อที่จะกลับไปทำงานต่ออีก ถ้าเจอที่ทำงานไม่ดี ยังต้องถูกเจ้านายโคกสับอีกต่างหาก เหนื่อยจากที่ทำงานแล้วต้องมาเหนื่อยกับความจราจลอีก คิดดูแล้วมันทั้งน่าเหนื่อยใจและเหนื่อยกายอยู่มากทีเดียว

ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย 
จากการศึกษาที่ไม่ฟรีในประเทศไทย พร้อมกับการประกาศรับสมัครงานที่ต้องมีวุฒินั้น ไม่เพียงแต่เป็นเหมือนการกีดกั้นคน ให้ไม่เท่าเทียมกันแล้ว มันยังทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย แล้วไม่ใช่ช่องว่างเล็กๆ อีกด้วย มันกลายเป็นช่องว่างที่ใหญ่กว้าง ที่ทำให้เราเห็นคนจนก็จนราวกับดิน ส่วนคนรวยก็รวยสูงเสียดฟ้า นั้นยังไม่พอมันยังทำให้คนจนนั้นสร้างฐานะได้ยาก สุดท้ายประเทศก็เลยมีคนรวยอยู่จำนวนน้อย และคนจนอยู่เป็นจำนวนมาก ประเทศถึงได้ถูกเรียกว่า เป็นประเทศที่จนอยู่นั่นเอง (เพราะคนส่วนใหญ่นั้นเป็นคนจน)
     คนจนในประเทศไทยนั้น จนจริงๆ ถึงขนาดต้องกินข้าวคลุกน้ำปลา ทีวีก็ยังไม่มีดูก็มี แต่คนรวยก็รวยล้นฟ้า คนที่มีฐานะในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีกว่าผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศอังกฤษด้วยซ้ำ และด้วยเหตุนี้นั่นเอง คนจนบางคนพอเห็นคนรวยที่รวยล้นฟ้า ก็อยากจะได้ อยากจะมีบ้าง แล้วด้วยการที่เขาไม่มีคำว่า "โอกาส" ในหลายๆ ด้านที่จะทำให้ชีวิตพวกเขาพัฒนาขึ้น หรือถ้ามีมันก็ยาก เขาก็อาจหันไปประกอบการทุจริต 
     พร้อมกันกับที่ประเทศไทยนั้น ยังไม่มีระบบที่เหมือนกับประเทศอังกฤษ ที่ว่า ถ้าคนไม่มีเงิน ไม่มีงานทำ รัฐบาลก็จะช่วย ไม่ว่าจะเป็น ในเรื่องที่อยู่ ที่กิน ถึงแม้จะไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่เขาช่วยเพื่อป้องกัน ไม่ให้คนออกไปหากินโดยทางทุจริต ไม่ว่าจะเป็น การโกง ชกชิง วิ่งราว หรือ การไปเป็นโสเภณี ที่ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมขึ้นนั่นเอง

ทุกสิ่งทุกอย่างปรับเปลี่ยนกันได้
เกรซได้ทราบจากสามีชาวอังกฤษของเธอว่า ในอดีตนั้น  แม้แต่ประเทศอังกฤษเองก็มีระบบคล้ายๆ กับประเทศไทย ที่คนรวยก็รวยไปคนจนก็จนจริงๆ จนมาถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทุกสิ่ง ทุกอย่างถูกทำลาย เพราะโดนระเบิดลง บ้านเมืองก็จน ไม่มีใครเหลืออะไร ผู้คนล้มตายกันระเนระนาด ทุกคนต้องช่วยกัน คนละไม้คนละมือสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ แม้กระทั่งพระราชินีของเขายังต้องออกมาทำงานเหมือนกับคนธรรมดาสามัญชนทั่วไป  และหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นจบลง ทุกคนก็ต้องสร้างเนื้อ สร้างตัวกันใหม่ และหลังจากที่ทุกคนต้องเริ่มต้นกันตรงเกือบที่จะ "0" ต้องช่วยเหลือกัน และจากการที่ได้ผ่านและรู้ซึ้งถึงความยาก ลำบากเพื่อที่จะฟันฝ่าประสบการณ์เลวร้ายนั้นมาด้วยกันนั่นเอง  ประชาชนจึงเห็นด้วยที่จะดำรงความเท่าเทียมกันไว้ ตั้งแต่นั้นมา พร้อมทั้งรัฐบาลได้เห็นความทุกยากของประชาชน จากนั้นมาจึงมีการให้สัญญาว่าเชาจะดูแลประชาชนของเขา จากการเก็บเงินภาษี ตั้งแต่วันที่คนของเขานั้นเกิดจวบจนวันที่ประชาชนของเขานั้นตาย นั่นเอง
     จะเห็นได้ว่าทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงกันได้ ถ้าสิ่งนั้นจะทำให้อะไรๆ มันดีขึ้น เกรซก็ได้แค่หวังว่า คนไทยนั้น จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ให้ทุกคนเห็นใจกัน  รักกัน และสามัคคีกันมากขึ้น ไม่เช่นนั้น มันอาจจะไม่เหลืออะไรเลย เกรซไม่อยากเห็นเมืองไทยเป็นเหมือนประเทศอื่น ที่พอคนจนรู้ว่าตนนั้นอยู่ในระบบที่ทำให้คนรวยมาเอาเปรียบเขา แล้วพอเขาเข้าใจอะไรๆ มากขึ้น และรู้ว่าเขาไม่ได้จนเพราะโชคชะตาฟ้ากำหนดอีกต่อไป เขาก็อาจจะลุกหือขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของเขา เหมือนที่มันเกิดขึ้นมาแล้วในบางประเทศ มันอาจทำให้เกิดสงครามกลางเมือง แล้วกว่าทุกอย่างจะจบ บ้านเมืองก็พังพินาศ ไม่เหลืออะไรเลย เหมือนดังหลายๆ ประเทศที่มีปัญหา รบรา ฆ่าฟัน กันอยู่ตอนนี้ มันจะไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา และจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่มีสงครามเกิดขึ้นนั้น มันมีความเสียหายเกิดขึ้นไม่รู้เท่าไหร่ ตึกรามบ้านช่องที่โดนเผาไหม้นั้นยังไม่พอ แต่เรายังเสียเวลาในการที่จะทำให้ประเทศได้พัฒนาไปด้วย เพราะแทนที่เราจะเอาเวลานั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่กลับกลายเป็นว่าเราต้องมาเสียเวลานั้นไปกับการรบ ทำลายกันและกันเอง เสียเวลาเปล่าๆ บ้านเมืองอื่นเขาพัฒนาไปไหนต่อไหน แต่ประเทศที่รบกันอยู่เป็นปีๆ นั้นสุดท้ายก็จะล้าหลัง เพราะมัวแต่ยุ่งอยู่ในเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ เราจะเห็นตัวอย่างได้จากประเทศที่มีภูมิประเทศ ที่สวยงาม แต่พอกลายเป็นประเทศที่มีสงคราม ประเทศนั้นๆ ก็กลับกลายเป็นเมืองร้างดีๆ นี่เอง เกรซคิดว่าคนไทยหลายๆ คนคงไม่อยากเห็นประเทศไทยเป็นเช่นนั้น

ภาพสงครามกลางเมืองในประเทศลิเบีย ปี2011
ภาพโดย: article.wn.com


ธรรมดาหรือไม่ธรรมดา
เกรซจำได้ว่าตอนที่เธอยังอยู่ในประเทศไทยนั้น เธอเห็นคนมีเรื่องตีกันเป็นประจำ เธอจึงรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติไป แต่หลังจากที่เกรซได้มาอยู่ที่ประเทศอังกฤษได้ห้าปีผ่านไป พอเธอได้รับรู้ข่าว ว่าน้องชายของเพื่อนของเธอนั้นถูกแทง เธอรู้สึกตกใจเป็นอย่างมาก และนั้นก็เป็นเพราะเกรซไม่ได้ใช้ชีวิตตามสภาพแวดล้อมเก่าๆ เหมือนที่เธอเคยอยู่ในประเทศไทยอีกต่อไป เช่นเดียวกับคนที่อยู่ในประเทศที่มีสงครามเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เขาจะเห็นเลือด เห็นคนตาย เป็นเรื่องปกติไป แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น การที่ใครสักคนเจ็บ หรือเสียชีวิต ไม่ได้เป็นเรื่องปกติเลย ใช่ มันเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่มันไม่ใช่เรื่องปกติ คำสองคำนี้แตกต่างกัน เรื่องปกติอาจจะเป็นการที่เรารับประทานข้าวไข่เจียวหมูสับเป็นอาหารเช้าอยู่ทุกวัน ไม่ใช่เห็นคนถูกยิงอยู่ทุกวัน
     ในประเทศอังกฤษนั้น หากมีคนเสียชีวิตหรือหายไป เขาจะตามจนถึงที่สุด หากถูกฆ่า ผู้ก่ออาชญากรรมก็จะต้องถูกจับกุม ไม่ว่าเขาจะรวยล้นฟ้า มาจากไหนก็ตาม นั่นก็เป็นเพราะว่าในประเทศอังกฤษนั้น ไม่มีคำว่า เส้นสาย หรือ การให้สินบนนั่นเอง ทุกๆ ที่ในประเทศอังกฤษนั้น จะมีกล้องวงจร CCTV ที่บันทึกทั้งภาพและเสียงติดตั้งอยู่เต็มไปหมด ถึงแม้เกรซจะมาจากครอบครัวที่มีเส้นมีสายบ้าง แต่เธอก็รู้สึกว่า ชีวิตของเธอนั้นปลอดภัยกว่าในประเทศอังกฤษ เพราะถึงเธอจะมีเส้นมีสายแต่ถ้าหากวันใดวันหนึ่งเธอมีปัญหากับคนที่ใหญ่กว่า ถึงว่าเธอจะไม่ใช่ฝ่ายผิด แต่เธอจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย ยิ่งคิดเกรซก็ยิ่งรู้สึกสงสารคนจนๆ เพราะเกรซเห็นในหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ประจำ ที่เวลาคนจนมีเรื่องกับคนรวย ก็ต้องเงียบปากไป เพราะคนจนไม่สามารถไปต่อสู้ มีปากมีเสียงอะไรได้ สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้คนผิดลอยนวลไปนั่นเอง เกรซรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมเอาซะเลย

CCTV ในประเทศอังกฤษ
ภาพโดย: engadget.com


แม้แต่คนรวยก็โดนได้เช่นกัน ตัวอย่างของ คุณปู่ของเกรซที่โดนโกงที่ดินเป็นสิบๆ ไร่ เนื่องจากทนายความ แอบสอดเอกสารการโอนที่ดิน ไว้กับเอกสารตัวอื่นที่คุณปู่ของเธอจะต้องลงลายมือชื่อ ท่านจึงโดนโกงที่ดินไป และคุณปู่ของเธอก็ไม่สามารถทำอะไรได้ สามีของเกรซพอรู้เรื่องก็บอกว่า ไม่มีทางเลยที่ เรื่องเช่นนี้ จะเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ  เพราะกฎหมายเขารัดกุมและปกป้องคนให้เท่าเทียมกัน


วัฒนธรรมคืออะไร
เมื่อตอนที่เกรซเป็นเด็กนั้น เธอคิดเสมอว่า ตราบใดที่เธอประพฤติตนตามวัฒนธรรมไทยของเธอนั้น เธอก็ได้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง ถูกต้องหมดแล้ว แต่พอเธอได้มาศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาการตลาดระหว่างประเทศ ที่มีการสอนเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างประเทศต่างๆ รวมถึงความแตกต่างของวัฒนธรรมในแต่ละชาติ เธอก็ได้เรียนรู้ความหมายของคำว่า “วัฒนธรรม” ซึ่งมันก็คือการประพฤติ ปฏิบัติ ของคนที่แตกต่างกันไป ในแต่ละกลุ่ม ซึ่งได้ประพฤติ ปฏิบัติกันมา ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์นั่นเอง และวัฒนธรรมนั้นจึงแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ซึ่งมันก็ไม่ได้ต่างจากกฎหมายที่ถูกเขียนบันทึกไว้ เพราะเวลาที่คนไม่ประพฤติตนตามวัฒนธรรมนั้นๆ เขาก็โดนลงโทษจากกลุ่มคนในสังคมนั้นนั่นเอง เช่น การท้องก่อนแต่งงานในสังคมไทยนั้น จะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ผิด หลายคนอาจจะโดนสังคมประนามในประเทศไทย แต่ในประเทศอื่นๆ เขาไม่ได้มองว่าเป็นความผิดแต่อย่างใด
     ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมในชาติอื่นที่ดูเหมือนถูก อาจจะเป็นสิ่งที่ผิดในชาติอื่นๆ ก็ได้ มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากวิดีโอที่จะได้เห็นต่อไปนี้ เป็นวิดีโอของเด็กผู้หญิงที่มาจากประเทศซูดาน  ซึ่งในประเทศของเขานั้น เขามีวัฒนธรรมในการเย็บอวัยวะเพศของผู้หญิง ตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เด็กไปมีความสัมพันธ์ ทางเพศก่อนเวลาอันสมควร แล้วเด็กผู้หญิงคนนี้ได้ย้ายจากประเทศของเธอ มาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ แล้วพอตอนเธอโตเป็นสาว เธอก็เกิดอาการไม่สบาย ตอนแรกหมอก็หาข้อพิสูจน์ของสาเหตุการไม่สบายของเธอได้ จนตอนหลังมารู้ว่าเด็กคนนี้ไม่สบายเพราะว่า เลือดประจำเดือนของเธอนั้น ได้ถูกกักขังอยู่เพราะอวัยวะเพศของเธอนั้นถูกเย็บไว้นั่นเอง


วิดีโอเด็กผู้หญิงถูกเย็บตามวัฒนธรรม

แม้แต่เกรซที่เป็นคนไทยหัวโบราณเธอยังรู้สึกว่า วัฒนธรรมของชาตินั้นผิด และเกรซก็เริ่มเข้าใจมากยิ่งขึ้นดังที่กล่าวมาว่า วัฒนธรรมนั้น ก็เป็นสิ่งที่มนุษย์นั้น กำหนด กฎเกณฑ์ กันขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นว่าวัฒนธรรมนั้นๆ จะต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป ดังนั้นมันจึงถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไขได้ โดยเฉพาะถ้ามันจะทำให้อะไรหลายๆ อย่างนั้นดีขึ้น มันไม่ใช่ของตายตัว ขนาดกฎหมายนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลง ประยุกต์ ให้ทันสมัย ไปตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ได้เลย

รัฐบาลอังกฤษปรับค่าธรรมเนียมการศึกษา
เนื่องจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำในประเทศอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษได้สั่งตัดค่าใช่จ่ายในหลายๆ ด้าน แต่ไม่นานมานี้รัฐบาลของอังกฤษได้ประกาศขึ้นค่าธรรมเนียมสำหรับนักศึกษาในระดับปริญญา ชาวอังกฤษหลายคน ไม่พอใจ และได้ให้คำวิภาควิจารณ์ในทางลบ เนื่องจากหลายคนไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกันกับเกรซ เพราะเกรซนั้นถึงแม้เธอจะไม่ได้มีประสบการณ์โดยตรงจากตัวเธอเอง แต่เธอได้เห็นกับตาคู่นี้ของเธอมาแล้ว ถึงผลกระทบจากการที่คนในประเทศนั้นไม่ได้รับความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษา ดังที่เธอได้เล่ามาข้างต้นนี้


ภาพนักศึกษาประท้วงต่อต้านการขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษา
ภาพโดย: deadlinenews.co.uk


คลิกเพื่ออ่านต่อเข้าสู่บทที่ 4 - การทำงานในประเทศอังกฤษ 

5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15 มีนาคม 2556 เวลา 15:39

    การเรียนในเมืองไทยจะต่างกับเมืองนอก เพราะเมืองนอกนั้นต้องช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง ไม่ว่า การกิน การอยู่ อะไรหลายอย่างที่ในบางครั้งอยุ่ในเมืองไทย มีแม่บ้านทำให้ทุกอย่างไม่ว่า การทำอาหารให้เราทาน ในขณะที่เมืองนอกเราต้องทำอาหารเอง กว่าจะได้อาหารอย่างหนึ่งก็ใช้เวลานานกว่าจะทำเป็น ซักผ้าอยู่เมืองไทยแม่บ้านก็ทำให้ เมืองนอกต้องทำเอง เรียกว่าต้องเรียนรู้ทุกอย่างเลย

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ผู้เขียนเจอประสบการ์ณเช่นเดียวกัน ก็ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ พี่ๆ ที่มาเรียนแล้วรู้สึกเหนื่อยนั้นรู้ว่ามีคนที่เข้าใจ และขอให้ต่อสู้ศึกษาให้สำเร็จตามที่คาดหวังไว้ และจากประสบการ์ณที่ได้ผู้เขียนก็ยิ่งรักคุณพ่อคุณแม่มากขึ้นไปอีก ก็ทำให้เห็นคุณค่าของคนรอบข้างมากขึ้นเช่นกัน

      ลบ
  2. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ต้องขอโทษด้วยที่ไม่มีเวลากลับมาเขียนต่อ และขอขอบคุณที่สนใจให้การติดตาม

      ปล. ขอเตือนในการลงอีเมล์ส่วนตัว เพราะไม่ปลอดภัยไม่ควรลงในอินเตอร์เนต

      ลบ
  3. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ